top of page
Search

ซากุระกรรมศาสตร์: เบื้องหลังนวัตกรรมของญี่ปุ่น

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนชอบนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ใช้แก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน หนังสือซากุระกรรมศาสตร์ ของ Kawaguchi แปลโดยดร.ปฏิมา สินธุภิญโญ เล่าถึงเบื้องหลังการสร้างชาติด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นอันมีรากฐานมาจากอัตลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น




ผู้เขียนเล่าถึงอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นผ่านเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดจากวัฒนธรรม นิสัย ความรู้สึก และจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น ผู้เขียนได้สรุปคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นไว้ 2 ประการคือ “ความสามารถพิเศษในการสมมติชีวิตให้กับของใช้ต่างๆ” และ “ความต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่สูงเกินกว่าคำว่ามาตรฐาน”


หนังสือได้ขยายความลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นไว้ 10 ประการ เช่น การแปลงสิ่งของให้มีชีวิตเหมือนมนุษย์ การเสพติดการสัมผัส การกลบกลื่นความขี้อายของชาวญี่ปุ่น การสะท้อนความรู้สึกความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำให้ชีวิตเหมือนอยู่ในฉากของละคร การรักษาสิ่งแวดล้อม และการย่อขนาดของใช้ เป็นต้น



เข้าใจนวัตกรรมและศิลปะที่ลึกซึ้งผ่านห้องน้ำญี่ปุ่น


ผู้เขียนเปิดเรื่องโดยเล่าถึง “ห้องน้ำ” ของญี่ปุ่น พื้นที่เล็กๆ อย่างห้องน้ำสามารถสะท้อนเอกลักษณ์ด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้อย่างดี โดยห้องน้ำญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานความต้องการของผู้หญิงเป็นสำคัญ ทั้งระบบชะล้างแบบไฮเทค ที่รองนั่งอุ่น การสร้างปุ่มดนตรีขึ้นมา เพื่อให้มีเสียงดนตรีกลบเสียงขณะทำธุระส่วนตัว สะท้อนการแก้ปัญหาความรู้สึกอายห้องข้างๆ การออกแบบผ้าอนามัยที่เวลาแกะหรือห่อแล้วไม่เกิดเสียงเพื่อให้ผู้หญิงมีความสบายใจขณะใช้ห้องน้ำ



ห้องน้ำไฮเทคยังออกแบบมาให้สามารถเปิดเองได้โดยอัตโนมัติสำหรับผู้ใช้ที่ไม่อยากสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของห้องน้ำเพราะคิดว่าสกปรกหรือสำหรับคนชราและผู้บกพร่องทางร่างกาย ระบบการพับกระดาษชำระอัตโนมัติ ที่นอกจากพับเป็นสามเหลี่ยมแบบปกติแล้ว ยังสามารถพับเป็นรูปนก หัวใจ ดอกไม้ ได้ด้วย มีระบบระบายอากาศอัตโนมัติ สเปรย์ทำความสะอาดที่นั่ง ที่นั่งแบบฆ่าเชื้อโรค และสเปรย์ปรับอากาศ

ตัวอย่างห้องน้ำสุขาของญี่ปุ่นดังกล่าวสะท้อนการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงบวกกับความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ที่สะท้อนความเข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้งานได้อย่างละเอียดลออ เริ่มจากการตอบสองความจำเป็นสู่การตอบสนองความสะอาด ความสบายตัว สบายใจ สบายตา และเข้าสู่ขอบเขตความเป็นศิลปะในที่สุด



ผู้เขียนได้เปรียบภาพลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นว่าเป็นเหมือน “เด็กผู้หญิง” คือ มีความเป็น “ผู้หญิง” ตรงที่ความละเอียดอ่อน อ่อนโยน สุภาพ รักความสะอาด และรักสวยรักงาม และมีความเป็น “เด็ก” ตรงที่ชอบของน่ารักๆ และเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นโลกของการ์ตูน นิทาน ตุ๊กตา การผลิตผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นจึงต้องตอบสนองความเป็นญี่ปุ่นดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ทั้ง ศาสตร์การผลิตสินค้าและศิลป์เพื่อเข้าถึงจิตวิญญาณของมนุษย์และความต้องการที่ไร้ขอบเขต



หนังสือได้พาเราเข้าไปเรียนรู้ของใช้ของญี่ปุ่นจากนิสัยคนญี่ปุ่น เริ่มจากหัวใจที่สำคัญประการหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่น คือ การทำให้สรรพสิ่งกลายเป็นมนุษย์ ใส่ชีวิตจิตใจให้กับสิ่งของ เพื่อให้สิ่งของมีความใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ชาวญี่ปุ่นจะชอบการวิธีนี้ มักมองของทุกชิ้นให้มีบทบาทและหน้าที่ในสังคม


ใส่จิตใจให้กับรถยนต์ เคล็ดลับความสำเร็จของนวัตกรรมญี่ปุ่น


ตัวอย่างเช่น “รถยนต์” ของญี่ปุ่น การพัฒนารถยนต์เน้น “หน้าตา” ของรถยนต์ไม่แพ้ความสามารถของเครื่องยนต์ ญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับการออกแบบ “ไฟหน้า” ของรถยนต์เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น “ดวงตา” ของรถยนต์ ไฟหน้าได้ออกแบบให้กลายเป็น Multi-reflector ที่บรรจุหลอดไฟหลายดวง คล้ายผลึกแก้วส่งแสงระยิบระยับอยู่ในกรอบตาเดียวกัน มองเห็นประกายไฟได้ชัดเจน ประกายตารถยนต์ดูโดดเด่น ซึ่ง “เจ้าไฟหน้าแบบวิ้งๆ” นี้มาจากดวงตาของเด็กสาวในการ์ตูนญี่ปุ่น ที่ดูเหมือนมีหยดน้ำกลิ้งอยู่ในดวงตา ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นครั้งแรกจากการ์ตูนเรื่องเจ้าหญิงอัศวิน โดยโอซามุ เทะซุกะ



ไฟหน้ารถยนต์ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาและถือเป็นความหวังใหม่ของวงการคือ ไฟหน้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “หุ่นกันดั้ม” รุ่น Zaku ที่ดวงตาสามารถกวาดกลิ้งซ้ายขวาได้เสมือนลูกตาของคนเรา ไฟหน้าที่หยุดนิ่งจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นดวงไฟที่เคลื่อนไหวได้ด้วยการบังคับของพวงมาลัยให้สามารถเปลี่ยนทิศทางไปซ้ายไปขวา สาดส่องไปตามทางโค้งหรือตามทิศทางของพวงมาลัยได้



ไฟหน้าของรถมอเตอร์ไซค์สมัยใหม่ก็ถูกเปลี่ยนจาก 1 ดวง เป็น 2 ดวงเพื่อให้เหมือนดวงตา เน้นไปที่คิ้วและบริเวณเหนือตาให้ชี้ขึ้นเพื่อให้ดูดุดันและโฉบเฉี่ยว อันได้แบบมาจากหุ่นยนต์กัมดั้ม และยังคล้ายกับนักแสดงคาบุกิที่มีการแต่งหน้าแบบคุมาโดริ ที่เน้นขอบตาดำๆ หนาๆ และทำหางตาให้ชี้ขึ้นอีกด้วย


ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสิ่งของมากและให้ความเคารพนับถือสิ่งของต่างๆ ด้วย เช่น คนญี่ปุ่นจะนำ“เข็ม” ที่หมดอายุการใช้งานแล้วไปปักไว้บน “เต้าหู้” เพื่อแสดงความขอบคุณแด่เข็มที่อดทนที่ทิ่มแทงของแข็งๆ มาโดยตลอดชีวิต จากนี้ไปขอให้เข็มได้หยุดพักอยู่บนที่ซึ่งอ่อนนุ่มแบบเต้าหู้บ้าง หรือ คาอธิบายต่อ “ไม้จิ้มฟัน” ของญี่ปุ่นที่ด้านไม่แหลมต้องมีขีดรอบๆ 2 ขีด ว่า ขีด 2 ขีดนั้นคือ “หมอนหนุน” ให้ไม้จิ้มฟันอันเล็กๆ ที่ต้องทนแคะเศษอาหารตามซอกฟันได้ใช้หนุนนอนในยามค่าคืน



จากตู้ขายอัตโนมัติถึงหุ่นยนต์


การเห็นความสำคัญของสิ่งของและการแปลงสิ่งของให้มีชีวิตจิตใจแบบมนุษย์ ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาที่เคลื่อนไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น ยกตัวอย่าง “ตู้ขายอัตโนมัติ” ที่ทันสมัยและมีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น


ญี่ปุ่นมีตู้ขายของอัตโนมัติมากมายและขายทุกอย่าง ทั้งบุหรี่ เครื่องดื่ม ดอกไม้ ข้าวห่อสาหร่าย กางเกงใน นิตยสาร ข้าวสารตู้ขายอัตโนมัติปัจจุบันสามารถพูดได้ ทั้งภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ จีน โปรตุเกส หรือแม้แต่ภาษาถิ่นคันไซหรือนาโงย่า นอกจากนี้ ตู้อัตโนมัติเริ่มสามารถตรวจจับคุณสมบัติของผู้ซื้อ เช่น ถ้าตรวจจับได้ว่าผู้ซื้อกำลังรู้สึกร้อน ตู้ขายของก็จะพูดว่า “จะรับของเย็นๆ ดับร้อนไหมคะ” ตู้ขายของตามสถานีรถไฟจะช่วยบอกเวลาที่รถไฟจะมาได้ด้วย เช่น “ซื้อเร็วๆ หน่อยก็ดีนะคะ อีก 2 นาทีรถไฟจะมา” หรือ “ไม่ต้องรีบค่ะ ค่อยๆ เลือก เหลือเวลาอีก 10 นาทีกว่ารถไฟจะมา”


ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของการพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นคือสร้างขึ้นให้เป็นมิตรกับมนุษย์ เช่นเจ้า ASIMO ของฮอนด้า ซึ่งต่างจากการพัฒนาหุ่นยนต์ของสหรัฐอเมริกาที่เน้นเพื่อการต่อสู้หรือการรบเป็นหลัก


หนังสือได้กล่าวถึงอัตลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านข้าวของเครื่องใช้และนวัตกรรมต่างๆ อีกมากมาย เช่น การสร้างคอมพิวเตอร์ให้เป็นเพื่อนที่รู้ใจ เก้าอี้นวดไฟฟ้า ไม้แคะหู แกงกะหรี่อัดก้อน เสียงกริ่งจักรยานที่เปลี่ยนเสียงให้อ่อนโยน เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องซักผ้าเก็บเสียงให้สามารถใช้ในยามค่ำคืนโดยไม่รู้สึกผิด


วอร์คแมนของโซนี่ที่มีคอนเซ็ปต์ครั้งแรกว่าเป็นเครื่องเล่นที่ทำให้ฟังเพลงได้ทุกที่โดยไม่รบกวนคนอื่น ขนมกูปิตัดที่จะพองตัวในท้องป้องกันเกิดเสียงดังในกระเพาะอาหารช่วยไม่ให้ต้องอับอายจากเสียงท้องร้องดัง ลูกอมฟุวาริงกะที่ทาให้กลิ่นปากหอมและยังทาให้กลิ่นกายหอมอีกด้วย แผ่นแปะรักแร้ที่ช่วยให้สาวๆ ไม่ต้องกังวลกับรอยเหงื่อ เป็นต้น


ผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษชื่อ Thanks Tail โดย Thanks Tail มีลักษณะเหมือนหางสุนัขทำด้วยพลาสติกติดไว้ที่ท้ายหลังคารถ เพื่อใช้เป็นภาษาของรถยนต์สำหรับให้คนขับสามารถสื่อสารกันได้ เช่น เวลาที่รถคันข้างหลังหยุดเพื่อให้ทางรถคันหน้า รถคันหน้าก็กดสวิตซ์เจ้า Thanks Tail นี้ให้มันสั่นหางดิ๊กๆ แทนคำขอบคุณ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นนำหนึ่งใจเดียวกันและทำให้รถสามารถสื่อสารคำว่า “ขอบคุณ” ซึ่งเป็นคำที่คนญี่ปุ่นชอบพูดกันจนติดปาก



นวัตกรรมเริ่มขึ้นง่ายๆ จากหลักการเหล่านี้ มองสิ่งของให้มีจิตใจเหมือนมนุษย์ มองมนุษย์อย่างเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ผลักดันมาตรฐานให้สูงขึ้น นี่เป็นบทเรียนที่ลึกซึ้งจากหนังสือเล่มนี้


75 views0 comments
bottom of page