top of page
Search

Sprint: วิธีสร้างสตาร์ทอัพใน 5 วัน

Sprint By Jake Knapp, John Zeratsky and Braden Kowitz (2016)


ในโลกที่หมุนเร็ว ยุคของสตาร์ทอัพ นวัตกรรมและการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) การจะหมุนให้ทันโลก สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้ มีข้อแนะนำง่ายๆ คือ ให้คนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันสร้างไอเดียใหม่ๆ นำความต้องการของมนุษย์มาเป็นศูนย์กลางเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ นำไปสร้างเป็นต้นแบบ (Prototype) คร่าวๆ ทดสอบกับลูกค้า ก่อนจะนำมาปรับปรุงหลายๆ รอบจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี แล้วนำสู่ออกตลาด





วิธีการนี้เกิดขึ้นเพื่อทดแทนวิธีการเดิมๆ ที่ใช้เวลานาน ที่มักเต็มไปด้วยการประชุมระดมสมอง โต้เถียง พยายามขายไอเดียของตนเพื่อเอาชนะของฝ่ายต่างๆ ซึ่งส่งผลให้กว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการจะออกสู่ตลาด เทคโนโลยีก็อาจจะเปลี่ยนโฉมไป หรือผลิตภัณฑ์อาจจะดูล้าสมัยไปแล้วในมุมของผู้บริโภค

วิธีการแบบเดิมดังกล่าวไม่เหมาะนักกับสตาร์ทอัพที่ยังมีสายป่านสั้น และก็อาจไม่เหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ที่แม้จะมีสายป่านยาว แต่อย่าลืมว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก


ใช้ 5 วันเพื่อเปลี่ยนไปไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์


หนังสือ Sprint แนะนำวิธีการรวมคนกลุ่มเล็กๆ มาร่วมกันสร้างไอเดีย สร้างต้นแบบและทดสอบกับสถานการณ์จริงอย่างรวดเร็วภายใน 5 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้กับบริษัท Google จนได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากมาย เช่นนำมาใช้กับโปรแกรม Chrome, Google Search, Gmail ในหนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับเป็นคู่มือของผู้ที่ต้องการนำวิธีการนี้ไปใช้ในองค์กรของตนเองเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เพราะหนังสือให้รายละเอียดรวมถึง check list ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้จริง Sprint มีหนังสือฉบับภาษาไทย แปลโดยคุณปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์ จัดทำโดยเนชั่นบุ๊คส์


ผู้เขียนออกแบบกระบวนการทำงานภายใน 5 วัน คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันจันทร์ เริ่มจากระบุปัญหาและเลือกจุดสำคัญที่ต้องการแก้ไขหรือเข้าไปจัดการกับปัญหา วันอังคาร เน้นระดมสมองเพื่อสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาออกมาให้หลากหลาย ให้ทางเลือกต่างๆ มาประชันขันแข่งกันบนกระดาน วันพุธ ตัดสินใจเพื่อเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดออกมา เป็นขั้นตอนสำคัญที่เปลี่ยนไอเดียไปเป็นสมมติฐานที่จะนำไปทดสอบได้ วันพฤหัสบดี เป็นวันแห่งการสร้างต้นแบบที่ใช้งานได้จริงๆ และวันศุกร์ นำต้นแบบไปทดสอบกับลูกค้าเป้าหมาย


กระบวนการ Sprint ทำให้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจสามารถเริ่มได้อย่างรวดเร็ว เป็นความได้เปรียบที่จะทำให้สามารถแปลงไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์แล้วดูปฏิกิริยากับลูกค้า ผู้ใช้ ผู้รับบริการว่าเป็นอย่างไร โดยยังไม่ต้องลงทุนสูง สามารถปรับแต่งผลิตภัณฑ์แล้วทดสอบ เรียนรู้จากความล้มเหลว พัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ชอบที่สุด



เตรียมความพร้อม


ก่อนจะลุยทำกระบวนการ Sprint เราจะเลือกความท้าทายที่เราอยากจะแก้ไข คัดเลือกผู้เข้าร่วมทีมไม่เกิน 7 คน หาคนที่สามารถตัดสินใจได้สักคน เลือกคนที่จับเวลาหรือ facilitator สักคน ที่สำคัญคือ การกันเวลาว่างของทีมให้ได้ 5 วันติดต่อกัน หาห้องที่มีกระดานไวท์บอร์ดใหญ่ๆ พยายามอย่าให้มีอะไรมารบกวนสมาธิ หากต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเพิ่ม ให้เชิญมาคุยช่วงสั้นๆ ได้



วันจันทร์ ระบุปัญหา เริ่มต้นกระบวนการ Sprint อธิบายกระบวนการ แนะนำตัว กำหนดปัญหา แยกย่อยปัญหา กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ เขียนแผนที่ปฏิสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์กับลูกค้า ซักถามผู้เชี่ยวชาญ พยายามมองปัญหาต่างๆ เป็นโอกาส เปิดความคิดให้สร้างสรรค์ ผู้เขียนแนะนำให้ใช้จินตนาการเริ่มต้นจากผลสุดท้ายที่ต้องการเห็น แล้วทำงานย้อนกลับเพื่อหาขั้นตอนไปถึงเป้าหมายนั้น วันจันทร์เราจะได้ปัญหาที่สำคัญและจุดที่เราจะเข้าไปแก้ไขปัญหา



วันอังคาร ได้วิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์มากมาย วันนี้ระดมสมองเพื่อได้วิธีแก้ไขปัญหาจากหลายๆ ทาง สร้างสรรค์ไอเดียมากๆ วาดบนกระดาน วันนี้จะได้ไอเดียต่างๆ มากมายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่ปิดกั้นแม้ไอเดียจะหลุดโลกก็ตาม วันนี้ให้เตรียมคัดเลือกลูกค้าเพื่อทดสอบวันศุกร์ไว้ด้วย



วันพุธ วันแห่งการตัดสินใจ ไอเดียทั้งหมดถูกเขียนไว้บนกระดาน ค้นหาจุดที่น่าสนใจ แปะสติกเกอร์ไว้ตรงเนื้อหาที่ชอบ พูดคุยกันถึงจุดเด่น จุดด้อยของทางเลือกต่างๆ แต่ละคนให้ลงคะแนนเสียงเลือกไอเดียที่ตนเองชอบ แยกไอเดียที่ชนะออกมาจากไอเดียดีๆ ที่เก็บไว้ก่อนได้ เลือกชื่อแบรนด์สมมติของไอเดียที่จะนำไปทดสอบ สร้างเรื่องราว หรือ Storyboard ว่าลูกค้าจะพบผลิตภัณฑ์อย่างไร รู้สึกอย่างไร



วันพฤหัสบดี สร้างต้นแบบ วันนี้เน้นสร้างต้นแบบทั้งวัน แยกส่วนงานเป็นชิ้นย่อยๆ แล้วนำมาประกอบรวมกัน



วันศุกร์ ทดลองกับโลกจริง เฝ้าดูปฏิกิริยาของลูกค้าที่มาทดสอบกับผลิตภัณฑ์ สัมภาษณ์ลูกค้า ตั้งคำถามปลายเปิด แต่ไม่ใช่การประชุมกลุ่มย่อย ให้สังเกตตัวต่อตัว มองหารูปแบบความคิดของลูกค้าที่เกิดบ่อยๆ สรุปผลเรียนรู้จากกระบวนการทั้งหมด ก่อนที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์จริงต่อไป



หนังสือชี้ให้เห็นว่าการทำงานแบบเดิมๆ ประชุมระดมสมองแบบเดิมไม่ได้ผลอีกต่อไป วิธีการ Sprint ช่วยให้มีเวลาคิดไอเดียด้วยตนเอง มีเส้นตายที่ช่วยให้จดจ่อ มีเวลาปลอดงานและไม่ต้องประชุมจุกจิก มีองค์ประกอบของทีมที่เหมาะสม มีเวลาสร้างชิ้นงานต้นแบบ และทดสอบกับลูกค้าอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการทำงานเสร็จอย่างรวดเร็วและช่วยให้การทำงานสนุกมากขึ้น ทดลองหยุดประชุมหยุมหยิมสักสัปดาห์อาจจะช่วยให้งานก้าวหน้าไปอย่างมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนได้ด้วยกระบวนการ Sprint

4 views0 comments
bottom of page