top of page
Search

Future Museum: พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่

เมื่อเราอยากศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวในอดีต เรามักจะคิดถึงพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่แรกๆ เรามักพบครูบาอาจารย์พาเด็กๆ หรือพ่อแม่พาลูกๆ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพื่อเรียนรู้เรื่องราวในอดีตอยู่เสมอ แล้วหากเราอยากจะเรียนรู้เรื่อง “อนาคต” เราจะไปที่ไหน? อนาคตยังไม่เกิดขึ้น แล้วจะเรียนรู้ได้จากที่ใด? มีพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตให้เราเรียนรู้ไหม? ปรากฏว่า “มี” แหล่งเรียนรู้แบบนี้อยู่หมือนกัน


พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตของญี่ปุ่น Image Credit: Japan Talk

พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ประเทศญี่ปุ่น


ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง ขณะที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานยาวนานนับ 1,000 ปี ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์ที่ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีทั้งพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์เฉพาะทาง และพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ของภาคเอกชนที่มีอยู่มากมาย เช่น ของโตโยต้า ฮอนด้า โซนี่ พานาโซนิค และที่สำคัญ ไม่เฉพาะแต่เรื่องอดีต หากญี่ปุ่นยังมีพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตที่บรรจุเรื่องราวในอนาคตให้ผู้คนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้อีกด้วย


พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตแห่งนี้มีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่กำลังผุดบังเกิดขึ้นและนวัตกรรมแห่งชาติ (National Museum of Emerging Science and Innovation) หรือที่เรียกว่า Miraikan ซึ่งแปลว่าพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศญี่ปุ่น


Miraikan เปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2544 โดยตั้งอยู่ในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในเขตโอไดบะ กรุงโตเกียว สามารถเดินทางไปได้โดยรถไฟอัตโนมัติที่ไม่มีคนขับ จากเมืองโตเกียวใช้เวลาเพียง 15 นาที เด็กๆ คนไหนอยากมาดู Asimo หุ่นยนต์ฮอนด้า ทำการแสดง พูดคุยและแตะฟุตบอลโชว์ ก็ต้องมาที่ Miraikan แห่งนี้


Mirankan มีการแสดงโลกความละเอียดสูง หรือ Geo-Cosmos แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบเรียลไทม์ของสภาพอากาศทั่วโลกและอุณหภูมิของมหาสมุทร Geo-Cosmos มีหน้าจอทรงกลมประกอบด้วยแผง OLED 10,362 แผ่น ซึ่งเป็นครั้งแรกและแห่งเดียวที่สร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อประธานาธิบดีบารัคโอบามาเยี่ยมเยียน Miraikan ได้กล่าวถึงนักเรียนชาวญี่ปุ่นในหน้าจอแสดงผล Geo Cosmos ว่า "เท่าที่ผมรู้ สหรัฐยังไม่มีลูกโลกที่เจ๋งสุดๆ ลูกนี้..."



Image Credit: Tokyo for 91 days

ดร. มาโมรุ โมริ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า “การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาและช่วยให้เราได้เห็นถึงความท้าทายที่โลกเผชิญอยู่ เช่นภาวะโลกร้อนและข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับคน 10 พันล้านคนที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกในอนาคต เราต้องเผชิญกับปัญหาระดับโลกเหล่านี้ด้วยมุมมองระดับโลก Miraikan ทบทวนและนำเสนอบทบาทของวิวัฒนาการของวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถพัฒนาโซลูชั่นระดับโลกและสร้างความหวังต่ออนาคต”


ในพิพิธภัณฑ์มีหลายโซน โซนสำรวจขอบฟ้า (Explore the frontiers) เพื่อตอบคำถามว่าทำไมพวกเราถึงมาที่โลกใบนี้ โซนนี้จะช่วยให้เราสามารถสำรวจพื้นที่ระบบสุริยะโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่มีอยู่ ในโซนนี้จะประกอบไปด้วยหัวข้อทางวิทยาศาสตร์เช่น การสังเกตการณ์นิวทริโน การศึกษาอนุภาคมูลฐาน สิ่งแวดล้อมโลกและฉัน เซลล์ที่กำลังพัฒนา (Cells in Progress) ห้องทดลองเพื่อสำรวจพรมแดน (Laboratory to Explore the Frontiers)


ส่วนโซนสร้างอนาคตของคุณ (Create your future) จะตอบคำถามว่ามนุษย์ควรใช้และพัฒนาความมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้อย่างไร โซนนี้ต้อนรับเราให้จินตนาการถึงสังคมและวิถีชีวิตในอนาคตที่เราต้องการแล้วคิดถึงวิธีการทำให้อนาคตในฝันให้เป็นจริง หัวข้อที่น่าสนใจเช่น แรงขับเคลื่อนนวัตกรรม ย้อนเวลาจากอนาคต หุ่นยนต์ในชีวิตคุณ แอนดรอยด์ แบบจำลองโมเดลอินเทอร์เน็ต คำถามจากผู้ได้รับรางวัลโนเบล และห้องทดลองเพื่อสื่อใหม่


ห้องทดลองแห่งอนาคต (Future Lab)

ไม่เพียงเป็นพิพิธภัณฑ์ Miraikan ยังมีส่วนที่เป็นห้องปฏิบัติการวิจัย ที่มีทีมโครงการดำเนินการวิจัยที่ทันสมัยตั้งอยู่ภายใน Miraikan ซึ่งหาได้ยากมากทีเดียว ที่จะมีห้องปฏิบัติการวิจัยตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ตัวอย่างโครงการวิจัยที่กำลังศึกษา เช่นโครงการ Human Symbiotic Robot Project นักวิจัยกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ฝังตัวที่ชาญฉลาด มีฟังก์ชันการรับรู้ วางแผน ควบคุมจำนวนมากที่ต้องใช้ระบบปฏิบัติการแบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น การทำแผนที่ 3D จากหุ่นยนต์โดยเคลื่อนไหวไปในสิ่งแวดล้อมต่างๆ โครงการ Displaying 3D Contents into Free Space Project มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุปกรณ์สำหรับการแสดงผล 3D ด้วยภาพจริงซึ่งช่วยให้เราสามารถดูภาพ 3 มิติในพื้นที่จริง


โครงการ Superhuman Sports Project เป็นรูปแบบใหม่ของ "Human-Computer Integration" เพื่อเอาชนะข้อจำกัดด้านร่างกายของมนุษยโดยการนำเทคโนโลยีเข้ากับร่างกาย ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ตั้งของโอลิมปิกและพาราลิมปิคี้อย่างเป็นทางการของปี 2020 โครงการหวังว่าจะสร้างอนาคตของการกีฬาที่ทุกคนไม่ว่าแข็งแรงหรืออ่อนแอ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถใช้งานและสนุกกับการเล่นได้โดยไม่ต้องเสียเปรียบ เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถเอาชนะอุปสรรคทางชีวภาพของบุคคลได้ ดังนั้น เราจึงสามารถเป็นนักกีฬาที่มีความเท่าเทียมกันในวงการกีฬาได้


ในแต่ละวัน จะมีนักเรียนและนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ในโซนหนึ่งจะมีเมืองแห่งอนาคต ที่ให้เราทุกคนสมัครเป็นพลเมืองของเมืองนี้ได้ โดยจะมีทำแบบสอบถามเพื่อระบุอาชีพของเราในอนาคต ซึ่งมักเป็นอาชีพที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ผู้จัดเก็บพลังงานส่วนเกินและกระจายไปสู่พื้นที่ขาดพลังงาน บรรณาธิการนิตยสารการขนส่งแห่งอนาคต เป็นต้น



พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ณ เมืองดูไบ Image Credit: dezeen.com

พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตใหม่ล่าสุดที่ดูไบ


นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ในปี 2019 จะมีการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตอีกแห่งที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นโรงบ่มเพาะวิสาหกิจใหม่ด้านนวัตกรรมและการออกแบบอันล้ำสมัย พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตแห่งนี้จะให้บริการสำหรับนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์สำหรับก้ปัญหาให้กับความท้าทายของเมืองในอนาคต จะเป็นแหล่งรวบรวมนักวิจัย นักออกแบบ นักประดิษฐ์ และนักการเงินให้มาอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน สภาพแวดล้อมแบบบูรณาการจะช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ และสามารถทดสอบกับกองทุน ทำการตลาดแนวคิด และสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ได้ โครงสร้างพิพิธภัณฑ์จะรวมเอาส่วนสำคัญที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคนิคการพิมพ์แบบ 3D อีกด้วย


พิพิธภัณฑ์จะเป็นเจ้าภาพกลุ่มห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพ การศึกษา เมืองอัจฉริยะพลังงาน และการขนส่ง นอกเหนือไปจากส่วนถาวรเกี่ยวกับนวัตกรรมในอนาคตในทุกสาขา คาดหวังว่าจะเป็นเวทีสำหรับแสดงและทดสอบสิ่งประดิษฐ์ล่าสุดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไฮเทคชั้นนำของโลก รวมถึงความร่วมมือระหว่าง บริษัทต่างๆ กับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำ พิพิธภัณฑ์นี้คาดหมายว่าจะกลายเป็นศูนย์กลางหลักเพื่อคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดการทำงานร่วมกันกับรัฐบาลต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาการทำงานและความท้าทายในปัจจุบันและในอนาคต


Image Credit: dezeen.com

เมื่อเห็นพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตทั้ง 2 แห่งแล้ว ความคิดและมุมมองเกี่ยวกับรูปแบบพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ จะเปลี่ยนไป ใครว่าพิพิธภัณฑ์จะมีแต่เรื่องราวในอดีต เราสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับอนาคตได้เช่นเดียวกัน



189 views0 comments
bottom of page